ปี 2021 อาจเป็นปีที่สำคัญสำหรับ NFT, การเงินแบบกระจายอำนาจ (DeFi) และสถาบันยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ที่เริ่มออกมาประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับคริปโต ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลกระทบของโควิด-19 ที่หลายคนพยายามมองหาวิธีใหม่ ๆ ในการกระจายการเงินและการย้ายจากที่ทำงานมาอยู่บ้าน เพื่อตนเองให้มีเวลาว่างในการศึกษาหาความสนใจใหม่ๆ และหลายคนต่างเลือกที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับ crypto
ในขณะที่บทสนทนาเริ่มดำเนินต่อไปจาก Bitcoin ( BTC ) ไปจนถึงโปรเจกต์คริปโตชั้นนำตัวอื่น ๆ เช่นการอัพเกรดเครือข่าย Ethereum และ สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางหรือแม้แต่ CBDC รายงานข่าวนำก็เริ่มมีการนำเสนอว่า การนำ crypto ไปใช้ในกระแสหลักกำลังดำเนินไปได้ดี อย่างไรก็ตามมีเทคโนโลยีหนึ่งที่สามารถขับเคลื่อน crypto ได้เป็นอย่างมีนัยสำคัญและคาดว่าจะเป็นที่ต้องการในชีวิตประจำวันของทุกคนนั่นก็คือ เทคโนโลยี Web3
Web3 คืออะไร?
ก่อนที่จะไปรู้จักกับ Web3 ต้องขอเท้าความไปถึง Web1.0 และ Web2.0 ก่อน โดยในปี 1989 Tim Berners-Lee เป็นผู้คิดค้น World Wide Web แม้ว่าในตอนนั้นจะไม่ได้เรียกว่า Web1.0 แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่นำพาผู้คนเข้าสู่โลกออนไลน์
ต่อมาในปี 1999 เริ่มมีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Web2.0 ซึ่งเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตไปในหลายๆ ด้าน ผู้คนสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์บนโลกเสมือนจริงได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม โต้ตอบกันได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งยุคนี้ทำให้บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี (Big Tech) เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก อาทิ Google Facebook Amazon และ Apple ซึ่งข้อมูลและเนื้อหาจะถูกรวมศูนย์ไว้ใน Big Tech เหล่านี้
Gavin Wood ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum ได้ก่อตั้งมูลนิธิ Web 3.0 Foundation ขึ้นในปี 2014 โดยมีแนวคิดว่าจะสร้างอินเทอร์เน็ตแห่งอนาคตที่เป็นของทุกคน โดยไม่มีกลุ่มใหญ่อย่าง Google หรือ Facebook
กล่าวคือ Web3.0 หรือ Web3 จะเพิ่มเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้าไปเพื่อต้องการทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นประชาธิปไตย มีเสรีภาพ และการกระจายอำนาจ ไม่มีเซิร์ฟเวอร์ ชาวเน็ตทุกคนสามารถเป็นเจ้าของและควบคุมข้อมูลบนโลกออนไลน์ มีข้อมูลในมือเท่าๆ กันโดยไม่ต้องเสียเปรียบยักษ์ใหญ่
ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและสื่ออธิบายว่า Web3 เป็นวิธีแก้ปัญหาสำหรับความกังวลเกี่ยวกับการที่ข้อมูลและเนื้อหาบนโลกออนไลน์ถูกรวมศูนย์ไว้ในบริษัท Big Tech ไม่กี่แห่งนั่นเอง
จะเกิดขึ้นจริงเมื่อไร?
การที่แนวคิดดังกล่าวจะเป็นจริงได้นั้นยังต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างเพื่อให้รองรับการเชื่อมต่อที่มีการรับส่งข้อมูลจำนวนมาก แต่ปัจจุบันนี้ก็มีเทคโนโลยีบางอย่างที่มีความใกล้เคียงกับ Web3 นั่นคือ คริปโตเคอร์เรนซี และ NFTs ที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชนโดยไม่มีคนกลาง ปราศจากการควบคุม
ส่วนหนึ่งมองว่าแนวคิดนี้ยังคงห่างไกลจากความเป็นจริง หรืออาจใช้งานได้แค่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะพุ่งเป้าไปที่ผู้ค้าคริปโตเคอร์เรนซี
ขณะที่นักวิจารณ์บางส่วนมองว่าแนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของฟองสบู่สกุลเงินดิจิทัล หรือเป็นส่วนเสริมของแนวโน้มบนบล็อกเชนที่พวกเขามองว่าเกินจริงหรือเป็นอันตราย โดยเฉพาะ NFTs
อย่างไรก็ตาม มีรายงานจาก The New York Times ระบุว่านักลงทุนหลายรายที่เชื่อมั่นกำลังเดิมพันเป็นเงิน 27,000 ล้านเหรียญสหรัฐว่า Web3 “คืออนาคตของอินเทอร์เน็ต”
Times of India ชี้ว่าหนทางยังคงอีกยาวไกล การกระจายอำนาจบล็อกเชนที่จะทำให้บริษัทใหญ่ไม่มีอำนาจควบคุมและมอบอำนาจนั้นให้แก่ชาวเน็ตทุกคน ดูเหมือนจะเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างเป็นอุดมคติเกินไป แต่ในทางกลับกันหากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนก็คงแทบจะไม่มีใครคาดคิดว่าคริปโตเคอร์เรนซี และ NFTs จะกลายมาเป็นกระแสหลักในปัจจุบัน
Elon Musk ซีอีโอบริษัท Tesla ก็ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิด Web3 ด้วยเช่นกัน โดยกล่าวว่ามันดูเหมือนเป็นศัพท์ทางการตลาดมากกว่าความเป็นจริง
“ผมไม่ได้พูดนะว่า Web3 จะไม่เกิดขึ้นจริง แต่มันดูเป็นศัพท์ทางการตลาดมากกว่าที่จะเกิดขึ้นจริงในตอนนี้…ฟังดูล้ำมาก” Musk กล่าว
ด้าน Jack Dorsey ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ Twitter ไม่เชื่อว่า Web3 จะทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นประชาธิปไตย เพียงแค่เป็น “ของเล่นของนายทุน” เขาไม่คิดว่าผู้คนจะเป็นเจ้าของอินเทอร์เน็ต เพราะท้ายที่สุดแล้วอำนาจก็จะอยู่ที่นักลงทุนอยู่ดี
ตอนนี้หลายคนอาจมองว่า Web3 เป็นแนวคิดที่ไกลเกินความเป็นจริง แต่มันยังเร็วไปที่จะพูดแบบนั้น เพราะคนที่เกิดยุค 90 ก็คงไม่เชื่อเหมือนกันหากบอกว่าวันหนึ่งโทรศัพท์จะกลายเป็นอุปกรณ์ที่สามารถทำทุกอย่างได้แบบนี้
Facebook Comments