สำนักงาน ก.ล.ต. ไขคำตอบ 4 เรื่อง ข้อสงสัยสำหรับลูกค้า Zipmex หลัง รมว.คลัง มีคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล-นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ตั้งแต่ 28 พ.ค. 2567
วันที่ 10 มิถุนายน 2567 รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า กรณีบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ถูกเพิกถอนจากการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดทำคำถาม-คำตอบที่ลูกค้า Zipmex อาจจะสงสัย 4 ประเด็น ดังนี้
หลังจากบริษัทถูกถอนใบอนุญาตแล้ว ลูกค้าของบริษัทต้องทำอะไรต่อไป ?
- กรณี Trade wallet
ลูกค้าที่มีสินทรัพย์ใน Trade wallet จะต้องติดต่อกับ Zipmex ทางอีเมล์ support.th@zipmex.com เพื่อขอโอนสินทรัพย์ออก
ทั้งนี้ บริษัทได้โอนเงินบาทไปยังบัญชีที่ลูกค้าผูกไว้กับบริษัทเมื่อ วันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567 และประกาศทางเว็บไซต์ https://updates.zipmex.co.th/?p=289470&lang=th สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยสินทรัพย์ดิจิทัลขั้นต่ำที่จะสามารถโอนออกจากบัญชีได้จะต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่าค่าธรรมเนียม (ค่าแก๊สและค่าดำเนินการ) ในการโอนบนเครือข่ายบล็อกเชน
ปัจจุบันบริษัทจัดเก็บทรัพย์สินดิจิทัลของลูกค้าไว้กับผู้ให้บริการรับฝากทรัพย์สินดิจิทัลที่มีคุณสมบัติตามที่ประกาศกำหนด
ก.ล.ต. แนะนำให้…
(1) หมั่นติดตามอีเมล์แจ้งการโอนทรัพย์สินจากบริษัท (รวมถึง junk email)
(2) เก็บอีเมล์การขอโอนทรัพย์สินดิจิทัลและการติดต่อกับบริษัทไว้เป็นหลักฐาน
(3) หมั่นตรวจสอบกระเป๋าปลายทางตามที่แจ้งไว้กับบริษัท เมื่อพบว่ามีทรัพย์สินดิจิทัลโอนเข้ามาควรตรวจสอบว่าถูกต้องตรงตามคำขอถอนทรัพย์สิน (ตามข้อ 2)
(4) กรณีที่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ ให้ตรวจสอบอีเมลในกรณีที่บริษัทอาจขอให้ส่งเอกสารข้อมูลเพิ่มเติม หรืออาจสอบถามพนักงานบริการลูกค้าทางข้อความ Facebook (Messenger) ของบริษัท และ/หรือติดต่อ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและชี้เบาะแส” ของ ก.ล.ต.
- กรณี Z-wallet
สำหรับสินทรัพย์ใน Z-wallet เนื่องจากปัจจุบัน ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษนายเอกลาภ ยิ้มวิไล อดีตกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ตามมาตรา 82 และ 88 จากที่พบว่า สินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าซึ่งควรจะมีอยู่จริง (ตามที่บริษัทรายงาน) ได้ถูกโอนออกไปก่อนที่จะให้ลูกค้ากดรับ Terms and Conditions ใหม่
ซึ่งการพิจารณาความผิดดังกล่าวนี้ ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญา ดังนั้น ผู้เสียหายสามารถนำข้อมูลการกล่าวโทษดังกล่าวไปประกอบการแจ้งความหรือฟ้องร้องดำเนินคดีได้ หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและชี้เบาะแส” โทร. 1207 กด 8
หากลูกค้าไม่สามารถติดต่อ Zipmex ได้ ก.ล.ต. จะช่วยเหลืออย่างไร ?
สามารถติดต่อที่ ก.ล.ต. เพื่อช่วยให้ประสานกับบริษัทได้ หรือติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและชี้เบาะแส” โทร. 1207 กด 8 หรืออีเมล์ info@sec.or.th หรือเฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th
การเพิกถอนใบอนุญาต มีผลต่อการดำเนินคดีต่อ Zipmex ในกรณีต่าง ๆ หรือไม่ อย่างไร ?
การเพิกถอนใบอนุญาต ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินคดี เป็นการดำเนินการคนละส่วน โดยหลังจากถูกเพิกถอนการอนุญาตแล้ว Zipmex ยังคงมีสถานะเป็นบริษัทจำกัดซึ่งมีสิทธิหน้าที่และความรับผิด ตลอดจนอาจถูกฟ้องร้องตามกฎหมายได้
กรณีการกล่าวโทษนายเอกลาภ ยิ้มวิไล เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 82 และ 88 การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญา ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับผู้กระทำผิดกฎหมายในชั้นอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน และการสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ
กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปผลการสอบสวน Zipmex มีความผิดฐาน “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และความผิดตาม มาตรา 75 แห่ง พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ นั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งสำนวนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งปัจจุบัน DSI อยู่ในชั้นพิจารณา ทั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญา
ก.ล.ต. จะช่วยเหลือเยียวยาหรือหาทางออกให้กับกลุ่มผู้เสียหายจาก Zipmex อย่างไร ?
กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ ก.ล.ต. ในการเรียกร้องสิทธิหรือค่าเสียหายแทนผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการในประเทศหรือต่างประเทศ โดยผู้เสียหายอาจพิจารณาดำเนินคดีทางแพ่งและ/หรืออาญากับ Zipmex โดยต้องดำเนินการภายในอายุความ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ให้ข้อมูลเอกสารหลักฐานแก่ผู้เสียหายเมื่อมีการร้องขอ และอัพเดตสถานะของเคสเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอำนวยความสะดวกสถานที่จัดประชุมสำหรับผู้เสียหายที่ต้องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม
credit : prachachat pic : blognone
Facebook Comments